
เครดิต : นิตยสารบ้านและสวน
เรียบเรียงโดย : thaidrawing
อิฐในประเทศไทยมีหลายประเภทค่ะ คุณภาพความเข็งแรงขึ้นอยู่กับสัดส่วนของวัสดุที่ใช้ เช่น สัดส่วน ระหว่างทรายกับดินเหนียวหรือ หินแข็ง กระบวนการผลิต เวลา และอุณหภูมิในการเผา หากใช้อุณหภูมิในการเผามากขึ้น อิฐจะมีสีคล้ำขึ้น ความพรุนภายในเนื้ออิฐจะลดลง ความแข็งแรงก็จะมีเพิ่มขึ้น อิฐที่เราใช้งานกันบ่อย ๆ แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
1. อิฐมอญ หรืออิฐดินเผา อิฐสีส้มแดงที่ทำจากดินเหนียวผสมกับแกลบหรือวัสดุอื่นๆ นวดให้เป็นเนื้อเดียวกัน ใส่ในแม่พิมพ์ ตัดทำเป็นแผ่น ผึ่งให้แห้งหรือพอหมาด แล้วนำเข้าเตาเผา อิฐชนิดนี้มีขนาดและสัดส่วนไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับรูปแบบและแหล่งผลิต มีทั้งประเภทก้อนตันและมีรูตรงกลาง แต่โดยทั่วไปมี 4 ขนาด ตามมาตรฐานอุตสาหกรรมไทย(มอก.)77-2545 ได้แก่ 65*140*40 มม., 90*190*40มม., 90*190*65มม., และ90*190*90มม.
2.อิฐขาว ทำจากปูนขาวผสมกับทราย อัดด้วยเครื่องจักรที่มีความดันและอบด้วยความร้อนสูง เป็นอิฐที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย มีแพร่หลายมานานแล้วในทวีปยุโรปและอเมริกา ถือว่ามีความแข็งแรงและคงทนกว่าอิฐมอญหรืออิฐบล็อก ทั่วไป เพราะเนื้อิฐมีความหนาแน่นมาก น้ำจึงซึมผ่านได้ยากกว่า ไม่อบความชื้น ป้องกันความร้อนได้ดี ทนไฟได้นาน น้ำหนักเบา การใช้อิฐขาวจะได้ผลงานออกมาเรียบร้อยกว่า เนื่องจากมีขนาดที่ได้ฉากสม่ำเสมอ ขนาดอิฐขาวโดยทั่วไปอยู่ที่ 11*24*7 ซม.
3. อิฐประดับ มักมีลวดลายหรือมีรูโป่ง ผลิตจากหินเกร็ด กรวด ทรายซิลิกาสีต่างๆ ร่วมกับซิเมนต์และสารเคมีหลายชนิดผสมกัน แล้วอัดด้วยเครื่องอัดแรง มีคุณสมบัติแข็งพอสมควร ไม่แตกง่าย เป็นฉนวนกันความร้อนและเก็บเสียงได้ดี เน้นความสวยงามเป็นหลัก มีให้เลือกหลากหลายลาย หลายขนาด และหลายรูปแบบ
4. อิฐบล็อกและคอนกรีตบล็อก ทำจากส่วนผสมระหว่างปูนซิเมนต์กับทราย นิยมใช้ในงานก่อสร้างเช่นเดียวกับอิฐมอญ แต่มีราคาถูก และก่อสร้างได้รวดเร็วกว่า เหมาะกับงานที่ต้องควบคุมค่าใช้จ่าย อาจมีความแข็งแรงไม่เท่าอิฐมอญ เพราะวัสดุมีรูพรุนมากกว่า ความหนาของอิฐบล็อกมีหลายขนาด อาทิ 7 ซม. 9 ซม. 14ซม. และ 19 ซม. ส่วนคอนกรีตบล็อกนั้นมักทำจากส่วนผสมของปูนซิเมนต์กับหินและทราย จึงรับน้ำหนักและแรงอัดได้ดี นิยมใช้ในงานปูพื้นและทางเข้า ซึ่งการขึ้นงานทำได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว
5. อิฐมวญเบา เป็นอิฐชนิดใหม่ ผลิตจากปูนซิเมนต์ปอร์ตแลนด์ ทราย ปูนขาว ยิปซั่ม น้ำ และสารกระจากฟองอากาศ จะใช้เครื่องจักรและกระบวนการผลิตที่ทันสมัย ขนาดก้อนจึงได้มาตรฐาน น้ำหนักเบา ช่วยลดภาระการรับน้ำหนักของโครงสร้าง ทนไฟ ป้องกันความร้อนของเสียงได้ดีขึ้นงานก่อผนัง ก็ทำได้อย่างรวดเร็ว จึงประหยัดเวลา ขนาดความกว้างและยาวของอิฐมวลเบาอยู่ที่ 20*60 ซม. มีความหนาตั้งแต่ 7.5-25 ซม. ขึ้นอยู่กับการใช้งาน
การเลือกใช้อิฐแต่ละประเภทจึงขึ้นอยู่กับปัจจัย อาทิ งบประมาณ กรอบเวลาก่อสร้าง ความแข็งแรงที่ต้องการ ฝีมือพื้นฐานของช่าง และความชื่นชอบส่วนตัวของเจ้าของ ซึ่งไม่มีอะไรที่ตายตัวค่ะ
แสดงความคิดเห็น